KPI ย่อมาจาก Key Performance Indicator หมายถึง ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน โดยจะแสดงให้เห็นรายละเอียดในความสำเร็จหรือล้มเหลวของงานนั้นๆ
KPI เป็นเทคนิควิธีการหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน
KPI เกิดจากการรวมกันของคำ 3 คำที่มีความหมายในตัวเอง คือ Key, Performance และ Indicator
Key หมายถึง จุดหลัก หัวข้อหลัก หรือ เป้าหมายหลัก
Performance หมายถึง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ ผลของการกระทำ
Indicator หมายถึง ตัวชี้วัดหรือดัชนีชี้วัด
เมื่อรวมกันแล้วสามารถกล่าวได้ว่า KPI คือดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงานโดยการวัดผลตามหัวข้อต่างๆที่กำหนด
หลักการนำ KPI มาใช้งานประเมินผลงาน
สมัยก่อนการประเมินผลงานอาจจะประเมินกันแบบลวกๆ ไม่ละเอียด ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่าผู้บังคับบัญชาเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสิน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลและประสิทธิผลขององค์กรหรือหน่วยงาน ทุกอย่างจะอยู่ที่การประเมินและตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเกิดปัญหาตามมามากมาย
ด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงต้องค้นหาดัชนีชี้วัดแบบละเอียดมาใช้งานแทนการตัดสินใจแบบลวกๆของคนเพียงคนเดียว ซึ่งปัจจุบันนิยมนำระบบ KPI มาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการใช้ KPI ในการวัดประสิทธิภาพของบุคคลและประสิทธิผลขององค์กรนั้น จะต้องจัดทำรายละเอียดของหัวข้อที่จะทำการประเมินผลไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดคะแนนของแต่ละหัวข้อเหล่านั้นไว้ด้วย เมื่อถึงเวลาประเมินผู้บังคับบัญชาต้องประเมินตามหัวข้อนั้นๆพร้อมให้คะแนน เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยจะต้องนำผลการประเมินนั้นมาแจ้งให้ผู้ถูกประเมินทราบ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกประเมินได้คัดค้านในหัวข้อที่ตนเองไม่เห็นด้วยกับผลการประเมิน
ด้วยวิธีการนี้จะเห็นว่าการประเมินจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดเผย มีความยุติธรรมทั้งต่อตัวผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน
สำหรับการนำ KPI มาวัดประสิทธิผลขององค์กรก็เช่นเดียวกับการใช้ KPI ประเมินบุคคล คือต้องจัดทำหัวหลักและหัวข้อย่อยที่ต้องการประเมิน พร้อมน้ำหนักหรือคะแนนในแต่ละหัวข้อ เมื่อถึงรอบระยะเวลาก็ทำการประเมิน และเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานในองค์กรมีโอกาสได้รับรู้รายละเอียดการประเมินและมีโอกาสได้สนับสนุนหรือคัดค้านผลการประเมินนั้นด้วย
ข้อควรระวังในการนำระบบ KPI มาใช้งาน
เนื่องจาก KPI เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยตรงและแบบละเอียด ดังนั้นอาจจะโดนต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานในระยะแรก ดังนั้นผู้ประเมินต้องมีความอดทนและกล้าที่จะประเมินแบบตรงไปตรงมา ไม่มีความลำเอียง แต่เมื่อทุกคนในองค์กรยอมรับการประเมินแบบนี้แล้ว ประสิทธิผลโดยรวมขององค์กรจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา : http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/kpi
No comments:
Post a Comment